หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาธารณสุขศาสตร์
มุ่งผลิตมหาบัณฑิตที่มีคุณธรรม จริยธรรม วิชาการและวิชาชีพ มีความเชี่ยวชาญในการวิเคราะห์ สังเคราะห์ องค์ความรู้ และวิจัยด้านสุขภาพในทุกมิติภายใต้สภาวการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลง
ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาบริหารธุรกิจ
บริหารธุรกิจช่วยสร้างผู้นำสำหรับอนาคต ที่มีวิสัยทัศน์ด้านการบริหารจัดการองค์กรในสภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี พระราชทานปริญญา บัณฑิตรุ่นที่ 15 มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย จำนวนกว่า 2,662 ราย - มล.ไกรฤกษ์ เกษมสันต์ รับปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขานิติศาสตร์ เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2560 มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) จัดพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ประจำปีการศึกษา 2558 ในวันอังคารที่ 12 กุมภาพันธ์ 2560 ณ หอประชุมสมเด็จย่า เวลา 09.00 น.เป็นต้นไป โดยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ในการพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ทั้งระดับบัณฑิต มหาบัณฑิต และดุษฎีบัณฑิต จำนวน 2,462 ราย จากสำนักวิชาวิทยาศาสตร์, การจัดการ, เทคโนโลยีสารสนเทศ, อุตสาหกรรมเกษตร, นิติศาสตร์, วิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง, วิทยาศาสตร์สุขภาพ, พยาบาลศาสตร์, จีนวิทยา และศิลปศาสตร์ ซึ่งในปีนี้มีผู้เข้ารับพระราชทานปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ตามที่สภามหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงมีมติอนุมัติ คือ มล.ไกรฤกษ์ เกษมสันต์ รับปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขานิติศาสตร์ ซึ่งเป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในสาขาวิชานิติศาสตร์ โดยเริ่มรับราชการในตำแหน่งอาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปี พ.ศ. 2514 ก่อนสอบเข้าและดำรงตำแหน่งเป็นผู้ช่วยผู้พิพากษา ผู้พิพากษาประจำกระทรวง และผู้พิพากษาศาลจังหวัด ตามลำดับ รวมถึงผู้พิพากษาในศาลแพ่ง ศาลอาญา และศาลฎีกา นอกจากและดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 ถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ยังเคยดำรงตำแหน่งผู้บริหารด้านธุรการในตำแหน่งอธิบดีกรมคุมประพฤติ ระหว่างปี 2535 – 2540 ทั้งยังมีส่วนร่วมในการพัฒนาและส่งเสริมด้านวิชาการของสำนักวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มาอย่างต่อเนื่อง ในโอกาสนี้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราโชวาทความว่า “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ข้าพเจ้ามาปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ประจำปีนี้. ขอแสดงความชื่นชมต่อผู้ทรงคุณวุฒิและบัณฑิตทุกคน ที่ได้รับเกียรติและความสำเร็จ คนเราแต่ละคน ย่อมมีภาระหน้าที่แตกต่างกันไป ตามสถานะ ความฉลาดสามารถและโอกาสที่ได้รับ ผู้ที่มีโอกาสดี ได้ศึกษาเล่าเรียนจนมีความรู้ความสามารถและคุณสมบัติสูงขึ้นก็ควรต้องมีภาระหน้าที่ที่จะประกอบกิจการงานให้บังเกิดผลเป็นประโยชน์มากขึ้น พูดถึงประโยชน์แล้ว ก็มีอยู่สองอย่าง ได้แก่ประโยชน์ส่วนตน กับประโยชน์ส่วนรวม การทำงานทุกอย่าง จะมุ่งกระทำเพื่อประโยชน์ส่วนใดส่วนหนึ่งมิได้ หากต้องให้อำนวยประโยชน์ทั้งสองส่วน จึงจะบังเกิดผลเป็นความเจริญมั่นคงที่แท้จริงและยั่งยืน บัณฑิตทั้งหลายนับว่าเป็นผู้มีโชคมีโอกาสดีกว่าผู้อื่นอีกเป็นจำนวนมาก ด้วยได้รับการศึกษาอบรมจนมีความรู้และคุณสมบัติพร้อมที่จะออกไปประกอบอาชีพการงาน จึงขอให้ทุกคนสำนึกตระหนักในภาระหน้าที่ของตน แล้วตั้งใจพยายามปฏิบัติการทุกอย่างให้เป็นประโยชน์สร้างสรรค์อย่างสมบูรณ์พร้อม เพื่อความเจริญก้าวหน้าและความผาสุกมั่นคง ทั้งของแต่ละบุคคลและของสังคมประเทศชาติ ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขออวยพรให้บัณฑิตทุกคน และทุกท่านที่มาร่วมในพิธีนี้ ประสบความสุขสวัสดี พร้อมทั้งความเจริญรุ่งเรืองโดยทั่วกัน” ซึ่งในการนี้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ยังมีหมายกำหนดการเสด็จพระราชดำเนินไปยังอาคารสำนักงานอธิการบดี และได้ทอดพระเนตรนิทรรศการที่มหาวิทยาลัยได้เตรียมจัดไว้ในหัวข้อ ป่าในจังหวัดน่าน ซึ่งเป็นการศึกษาวิจัยเรื่อง การสูญเสียและการฟื้นฟูป่าไม้ในจังหวัดน่าน โดยมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ซึ่งเป็นงานวิจัยที่ได้รับเงินอุดหนุนการวิจัยจากมูลนิธิ 100 ปี สมเด็จพระศรีนครินทร์ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 สำหรับนิทรรศการมีเนื้อหาเกี่ยวกับป่าไม้ในจังหวัดน่าน โดยประกอบด้วย ที่มาและความสำคัญ ดังนี้ จังหวัดน่านเป็นแหล่งน้ำที่เป็นต้นกำเนิดของต้นน้ำและมีบทบาทสำคัญต่อความมั่งคงทางนิเวศของลุ่มน้ำในภาคเหนือและภาคกลาง ซึ่งการสูญเสียป่าไม้ในจังหวัดน่าน ถึง 1.73 ล้านไร่ หรือร้อยละ 27 ของพื้นที่ป่าไม้ทั้งหมดจึงเป็นปัญหาทางสิ่งแวดล้อมที่สำคัญและจำเป็นต้องได้รับการแก้ไข โดยงานวิจัยได้ค้นพบสาเหตุของการสูญเสียป่า ไม่ว่าจะเป็นทางเลือกในการประกอบอาชีพมีจำกัดหรือการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และยังได้เสนอแนวทางการฟื้นฟูป่าไม้ไว้หลายแนวทาง เช่น การพัฒนาอาชีพเพื่อเพิ่มแหล่งรายได้นอกภาคเกษตร, พัฒนาการศึกษาและการสาธารณสุขในพื้นที่ห่างไกล เพื่อลดค่าใช้จ่ายและสร้างโอกาส เป็นต้น โดยต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย ทั้งภาครัฐและภาคประชาชน โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยที่จะมีส่วนในการจัดทำรูปแบบและแนวทางเพื่อการประสานพลังในการฟื้นฟูป่าไม้
........... |
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสบการณ์และความพึงพอใจในการใช้งานเว็บไซต์ หากคุณกด “Accept” หรือใช้งานเว็บไซต์ของเราต่อ ถือว่าคุณยินยอมให้มีการใช้งานคุกกี้ คุณสามารถศึกษารายละเอียด นโยบายแนวปฏิบัติการใช้คุ๊กกี้ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ได้ที่ https://pdpa.mfu.ac.th/papa-6240/pdpa-6251.html
|